ประวัติความเป็นมาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ทบวงมหาวิทยาลัยได้ศึกษาความต้องการกำลังคนในสาขาวิชาที่ขาดแคลนแล้วพบว่า การผลิตบัณฑิตทางด้าน วิทยาศาสตร์สุขภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตามแผนการผลิตปกติยังไม่สามารถตอบสนองแผนพัฒนาสาธารณสุขของประเทศได้ จึงได้นำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้ง ปริมาณและคุณภาพ โดยได้จัดทำเป็นแผนการเพิ่มการผลิตบัณฑิตและพัฒนาการจัดการศึกษาซึ่งมีการเพิ่มการรับนิสิต และการพัฒนาอาจารย์ควบคู่กันไปด้วย ผลการศึกษาวิเคราะห์ ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดเป็น เป้าหมายจำนวนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาวิชาต่าง ๆ ต่อประชากร
เมื่อพิจารณาจำนวนบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและจำนวนที่ต้องการในอนาคตและขีดความสามารถของสถาบันฝ่ายผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วสามารถเพิ่มการรับนิสิตได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่ได้คาดประมาณไว้ จึงจำเป็นต้องขยายแหล่งผลิตเพิ่มมากขึ้นและโดยปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือปัญหาการกระจายของบุคลากรในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จากการศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยพบว่า ถ้ามีการตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ขึ้น ณ บริเวณใดแล้ว จะทำให้สัดส่วนของบุคลากรในสาขานั้นๆ ต่อประชากรดีขึ้น ดังนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดเป็นนโยบายให้ตั้งคณะวิชา/ภาควิชาใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในมหาวิทยาลัยภูมิภาค และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสถาบันที่ผลิตบุคลากรทางด้านนี้ที่กรุงเทพ-มหานครและที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเป็นจุดที่ตั้งที่เหมาะสมที่จะผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพออกมารับใช้สังคมโดยเฉพาะบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ ในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยนเรศวรมีพื้นฐานการจัดการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้ว คือ คณะเภสัชศาสตร์ จึงได้รับนโยบายดังกล่าวมาจัดทำโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เสนอขอปรับเข้าไว้ในแผนฯ 7 แล้ว และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดการศึกษาของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยให้มีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนระดับ PRE-CLINIC ให้การสนับสนุนงานวิจัยกับอาจารย์และนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ นิสิตในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ และสาขาวิชาสหเวชศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีและผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่มีความต้องการเร่งด่วนทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ด้วย จุดเน้นอีกประการหนึ่งคือ การผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อสร้างอาจารย์และนักวิจัยในสาขาวิชาทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ให้เป็นผู้นำทางวิชาการในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยจะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาไปสู่การจัดหลักสูตรนานาชาติในสาขาวิชาต่าง ๆ อีกด้วย การกำหนดองค์กรขึ้นในลักษณะเช่นนี้ก็เพื่อปฏิรูปการบริหารงานให้เหมาะสมและคล่องตัวมากขึ้น เป็นการรวมภาควิชาที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนระดับ PRE-CLINIC ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกสาขาเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นหน่วยงานที่มีความกะทัดรัดไม่ใหญ่โตเกินไป เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมีความเป็นอิสระทางวิชาการสูงเพราะการสอนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระดับ PRE-CLINIC นั้น จำเป็นจะต้องสร้างความแข็งแกร่ง มีการพัฒนาทางด้านวิชาการให้ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับวิชาชีพแต่ละสายจึงจะทำให้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายได้บัณฑิตที่พึงประสงค์ สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งและแบ่งส่วนงานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2544